Testing Noodles Pathumthani

20/2/54

ตลาดนัดสมรภูมิไอเดีย เปิดแล้วจ้า


รายการ สมรภูมิไอเดีย หรือ Brainchild รายการแข่งขันเกมส์เชิงวิชาการ ที่เปิดเวทีในการนำเสนอผลงานไอเดียสิ่งประดิษฐ์ สำหรับเยาวชนไทย มี ดาว-อภิสรา นุตยกุล และ เอก-วิชัย จงประสิทธิพร รับหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ดุ๊ก-ภานุเดช วัฒนะสุชาติ ปอ-ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์ รับหน้าที่กูรูนักวิชาการ กูรูนักออกแบบ และกูรูผู้บริโภค ตามลำดับ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทุกวันศุกร์ เวลา 15.55 น – 16.20 น
ขอเรียนเชิญท่านสื่อมวลชน ร่วมเก็บภาพบรรยากาศทำข่าว
งานแถลงข่าวรายการ “สมรภูมิไอเดีย” กับการก้าวสู่ปีที่ 5+1
ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 13.30 น.
ณ ชั้น 2 อาคารมาลีนนท์ทาวเวอร์ ถ.พระราม 4
พบกับการเผยโฉมรูปแบบใหม่ บุกตะลุยหาไอเดียทุกพื้นที่ทั่วไทย
พร้อมกับการสร้างเหยี่ยวข่าวไอเดีย
พบกับการเปิดตัวพิธีกรภาคสนาม เชน-ธนา ลิมปยารยะ
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการฉลองการก้าวสู่ปีที่ 5+1 ทางรายการยังได้จัด “ตลาดนัดไอเดีย” ให้ประชาชนได้เที่ยว ชิม ช๊อป ผลงานไอเดียสุดสร้างสรรค์ ทั้งของกินและของใช้ (แนบข้อมูล) อาทิ ต้นไม้กระป๋อง นาฬิกาเพ้นท์ โมบายฮวงจุ้ย เป็นต้น และนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ (แนบข้อมูล) จากสถาบันหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเลยจ้า งานนี้ร้อง ว้าววววว แน่นอน
*สำหรับสื่อมวลชนท่านใดสนใจสัมภาษณ์ร้านค้า หรือสิ่งประดิษฐ์ กรุณาแจ้งกลับ จ๊ะ 081-414 1891 

13/2/54

‘โซไนต์’ พัฒนาไร้ขีดจำกัด

นิติพันธ์ ดารกานนท์ กรรมการ บริษัท เอ็นคิวด์ จำกัด ผู้ผลิตนวัตกรรมกระเบื้องแนวใหม่ ภายใต้แบรนด์ “โซไนต์” ซึ่งมีความโดดเด่นด้านดีไซน์และการใช้งานได้อย่างหลากหลาย นำไปสู่ทางเลือกใหม่ที่ต่างจากกระเบื้องที่มีอยู่ทั่วไป เล่าว่า จากประสบการณ์ของครอบครัวที่ทำธุรกิจเท๊กซ์ไทล์ทำให้รู้ว่าการที่ธุรกิจเติบโตได้ในอดีตเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น แรงงานราคาถูก แรงงานที่มีคุณภาพ และการเมืองที่นิ่ง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่น ค่าแรงที่ต่ำกว่าของประเทศเพื่อนบ้าน และซัพพลายเชนต่างๆ เข้ามามีผลกระทบต่อธุรกิจ

จึงเกิดความคิด “ตั้งโจทย์” ให้กับตัวเองว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดสินค้าหรือธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ สามารถแข่งขันได้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม การมีสินค้าที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่างในด้านดีไซน์เป็นของตนเอง เพราะธุรกิจในอดีตเป็นการรับจ้างผลิตตามแบบของลูกค้า และยังคิดอีกว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถใช้ฐานการผลิตเดิมเพื่อให้พนักงานที่มีอยู่ทำงานได้ต่อไป
ในตอนนั้นจึงใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมที่ร่ำเรียนมา พยายามพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่มีอยู่และทำอะไหล่เครื่องจักรที่ใช้ในธุรกิจเท๊กซ์ไทล์ขึ้นมาเอง เป็นการฝึกฝีมือให้กับทีมงานฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายวิจัยและพัฒนา จนกระทั่ง เกิดแรงบันดาลใจหลังจากไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศสและเกิดความประทับใจ “โมเสก” ของโบสถ์ใหญ่โตที่มีรายละเอียดของสีสันและลวดลายที่สวยงาม ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าทำไม “โมเสก” บนศิลปะยุโรปที่สวยงามจึงอยู่ไม่ได้นาน ก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะสีหรือพื้นผิวที่อยู่อย่างจำกัด ราคาสูงเกินไป หรือความยากในการใช้
จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ในการปัญหาที่ท้าทายใหม่นี้ ด้วยการเริ่มวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ผลิตโมเสก เพื่อให้รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีพื้นฐานอะไรในการผลิตโมเสก ค้นหาความต้องการของลูกค้าจากหลายๆ อุตสาหกรรม จนพบว่าธุรกิจก่อสร้างและตกแต่งภายใน เป็นคำตอบของธุรกิจใหม่สำหรับโมเสกที่พัฒนาขึ้นมา จึงหันมาโฟกัสเน้นหนักให้ความสำคัญในกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการวางกลยุทธ์มีความสำคัญ ซึ่งเมื่อกำหนดให้สินค้าใหม่ที่ผลิตขึ้นอยู่ในระดับพรีเมียมแล้ว ในเรื่องของภาพลักษณ์องค์กร และการทำตลาดต้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย รวมทั้ง การสร้างแบรนด์ “โซไนต์” (SONITE) และโลโก้ที่บ่งบอกตัวตนหรือจิตวิญญาณที่สื่อให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัดหรือ Infinite Innovation โดยมีหลักการบริหารที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่ต้องเชื่อมโยงสอดคล้องกัน คือ 1.Design เพราะการออกแบบเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ โดดเด่นและแตกต่าง 2.Manufacturing เพราะการผลิตเครื่องจักรและมีเทคโนโลยีในการผลิตเองทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และ3.Sales&Marketing เพราะช่องทางจำหน่ายที่ทำให้เข้าถึงลูกค้าและสื่อสารได้ดี เมื่อทั้ง 3 ส่วนสัมพันธ์ได้ดีจึงจะทำให้ประสบความสำเร็จ

30/1/54

พลิกกลยุทธ์สร้างแบรนด์ ‘เป่ายิ้งฉุบ’ชี้ทางใหม่ฝ่ามรสุม

กรณีศึกษาการปรับตัวของเจ้าของธุรกิจประสบการณ์โชกโชน “ชาลี รัตนวชิรินทร์” เจ้าของธุรกิจ ทบทวนบทเรียนใหม่ นำพา “เป่ายิ้งฉุบ” สร้างชื่อ ตกผลึก “core competency” ขององค์กร เพื่อวิ่งสู่เป้าหมายที่ชัดเจน กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้เหมือนกัน

แม้ว่าในปีนี้ในภาพรวมของหลายกลุ่มธุรกิจจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกซึ่งควบคุมไม่ได้ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกจากการหาทางฝ่าอุปสรรคเพื่อหาทางรอดแล้ว ความพยายามนำพาธุรกิจให้ล่องไปในมหาสมุทรเพื่อฝ่ามรสุมไปสู่น่านน้ำที่เต็มไปด้วยแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ยังเป็นความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการทั้งหลาย รวมถึง “เป่ายิ้งฉุบ” หนึ่งในผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในธุรกิจการ์เม้นท์ ที่ในวันนี้หันมาให้ความสำคัญกับแก่นความสามารถหลัก (core competency) เพื่อปรับตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง
จากการประเมินมูลค่าตลาดเสื้อยืดของประเทศไทยทั้งหมดอยู่ในระดับหลายหมื่นล้านบาท ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิตที่สร้างแบรนด์เองและวางขายใน retail shop ทว่า สำหรับสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เกิดปัจจัยลบกับธุรกิจการ์เม้นท์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เข้ามาบุกตลาดโบ๊เบ๊อย่างหนักหน่วงขึ้นทุกวัน
นอกจากนี้ ยังมีกระแสความนิยมเสื้อเหลืองและเสื้อดำทำให้สีสันของธุรกิจลดลง ที่สำคัญการไม่มีแบรนด์มีจุดเสี่ยงเมื่อวันนี้ที่อะไรๆ ก็ขายไม่ดีทำให้ซาปั๊วเริ่มสั่นคลอน เพราะไม่มีสินค้ายี่ห้อไหนที่โดดเด่นออกมาอย่างชัดเจน แต่เมื่อมียี่ห้อไหนที่เด่นออกมาได้จะเป็นจุดให้ซาปั๊วเลือก
เมื่อการอยู่ในโลกของทุนนิยมต้องคำนึงถึง economy of scale และทำให้เกิดการผลิตที่โอเวอร์ซัพพลาย มีการนำสินค้าที่ผลิตมากจนราคาตกต่ำทำให้ต้องนำไปทิ้ง การสร้างแบรนด์จึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นเหตุผลสำคัญที่ “เป่ายิ้งฉุบ” ผู้ผลิตเสื้อยืดท้องถิ่นของไทยยืนยันว่า การสร้างแบรนด์สำคัญขนาดไหนในวันนี้และอนาคต
๐ สร้างเอกลักษณ์ ด้วยจุดขายใหม่
ชาลี รัตนวชิรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำหนึ่งการตลาด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อยืด “เป่ายิ้งฉุบ” กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ในวันนี้ “เป่ายิ้งฉุบ” กำลังเดินหน้าต่อไปในทิศทางของการสร้างแบรนด์แม้จะอยู่บนเส้นทางที่เหนื่อยยาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและมีแบรนด์เนมดังระดับโลกอย่าง “ลาคอสต์” เป็นตัวกระตุ้นให้พัฒนาตัวเองต่อไป
“เป่ายิ้งฉุบกำหนดให้ตัวเองเป็น the best follower โดยมี ลาคอสต์ซึ่งเป็นผู้นำตลาดเสื้อโปโลของโลกเป็นตัวอย่างให้เทียบเคียงในเรื่องของคุณภาพ แม้ว่าเสื้อเป่ายิ้งฉุบราคา 300 กว่าบาท แต่มีคุณภาพใกล้เคียงกับเสื้อลาคอสต์ราคา 2,000 กว่าบาท”
อย่างไรก็ตาม สำหรับการปรับกลยุทธ์ในปีนี้ “เป่ายิ้งฉุบ”เริ่มด้วยการหันมารุกตลาดเสื้อยืดคอกลมสีขาวสกรีนลวดลายและเพิ่มจุดขายใหม่ โดยกลางเดือนมีนาคมนี้จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในไลน์ของเสื้อยืดคอกลมขาวและมีผลิตภัณฑ์พิเศษที่เรียกว่า “ขาวเป่ายิ้งฉุบ” ซึ่งมีจุดเด่นจากการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า Bio Silky ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการทางชีวภาพย่อยสลายเส้นใยส่วนเกินทำให้เกิดความเงาของเส้นด้ายทำให้ผ้ามีความเงาสวยงามและนุ่ม แทนที่จะใช้สารเคมีซึ่งทำให้เกิดมลพิษ รวมทั้งยกระดับสีของเนื้อผ้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นและได้สีที่สวยตามความต้องการของตลาด ซึ่งสีขาวเป่ายิ้งฉุบหรือโดยทั่วไปอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสีงาช้าง มาจากการพยายามหาจุดแตกต่างและสร้างเอกลักษณ์ใหม่
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำออกมาทำตลาดจะมีการแบ่ง segmentation นอกจากจะนำกลุ่มสินค้า “ขาวเป่ายิ้งฉุบ” โดยเลือกเจาะตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เดอะมอลล์ จะมีกลุ่มสินค้า “ขาวปกติ” วางขายในช่องทางยี่ปั๊วและซาปั๊ว โดยจะนำเสนอคอลเลคชั่นต่างๆ เช่น Love Earth เป็นภาพสกรีนที่สื่ออารมณ์การท่องเที่ยวธรรมชาติป่าเขา ทะเล เป็นต้น เพราะตรงกับฤดูร้อนซึ่งให้ความรู้สึกของวันหยุดพักผ่อนสบายๆ
การปรับตัวรุกตลาดด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว ผ่านการตกผลึกจากแก่นความสามารถ 3 ประการที่นำมาใช้อย่างสอดรับกัน ประการแรก คือ Quick Response หมายถึงการที่ต้องตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็วและเท่าทัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องผลิตโดยมีจำนวนน้อยลงในแต่ละครั้ง แต่มีความถี่ในการผลิตมากขึ้น โดยที่การตอบสนองต้องเป็นไปทั้งกระบวนการตลอดทั้ง supply chain ตั้งแต่การผลิตจนสินค้าถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเพียงแค่ในกระบวนการผลิตที่มีขั้นตอนมากและด้วยโครงสร้างที่เป็นแมสทำให้ต้องปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง เสื้อยืดคอกลมสีขาวที่กำลังจะใช้ทำตลาดเชิงรุก ถามว่าทำไมเลือกกลยุทธ์นี้ คำตอบในเรื่องของ Quick Response ซึ่งหมายถึงการที่ต้องคิดทั้งซัปพลายเชนนั้น การเลือกรุกตลาดด้วยเสื้อยืดขาวเป็นพื้นฐานมีเหตุผลแรกคือการที่สามารถลดปัญหาความยุ่งยากในการจัดการสต๊อกผ้าหลายๆ สีให้เหลือเพียงสีเดียว ทำให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้น เพราะขั้นตอนการผลิตตามปกติเริ่มจากตัด พิมพ์ เย็บ ฟินิชชิ่ง แพ๊คกิ้ง สต๊อก และส่งร้านค้า แต่วิธีการใหม่ใช้การผลิตเสื้อยืดขาวไว้ล่วงหน้า เมื่อลายไหนขายดีก็สามารถนำเสื้อที่เตรียมไว้แล้วมาพิมพ์เพื่อลดขั้นตอน
๐ ปรับกระบวนท่า วาง 3 กลยุทธ์พิชิตตลาด
ประการที่สอง คือ Niche Market การทำตลาดเฉพาะ และประการที่สาม คือ Focus Sale ด้วยการเลือกวางสินค้าในช่องทางที่เหมาะเจาะกับสินค้า ซึ่งต้องคิดให้สอดคล้องกัน มีตัวอย่างที่เป็นบทเรียนจากสินค้าคอลเลคชั่น “คนรักหมา” ซึ่งเป็นสินค้าเดิมที่เคยคาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับดีเพราะมองว่าคนโดยทั่วไปชอบหมา และมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างดีและรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เช่น รู้ว่าหมา 10 สายพันธุ์อะไรที่คนไทยชอบ แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะอย่างไร เป็นต้น แล้วจึงผลิตสินค้าเจาะกลุ่มครอบครัวหรือพ่อแม่ลูกซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเป่ายิ้งฉุบ แต่เมื่อนำออกสู่ตลาดกลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร
เมื่อวิเคราะห์ข้อผิดพลาดแล้วทำให้รู้ว่าอยู่ที่ช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากนำเสื้อคอลเลคชั่นดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วยภาพสกรีนหมาหลากหลายพันธุ์และข้อมูลเกี่ยวกับหมาพันธุ์นั้นๆ ไปวางจำหน่ายโดยใช้ช่องทางของยี่ปั๊วและซาปั๊ว เช่น โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ ซึ่งเป็นช่องทางเดิมที่มีอยู่และกลุ่มลูกค้าทั่วไปซึ่งไม่ได้ประทับใจกับภาพหมาที่นำเสนอ แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดที่จะนำคอลเลคชั่นคนรักหมามาทำตลาดใหม่ โดยการเจาะเข้าไปในช่องทางที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ร้านขายสินค้าที่เกี่ยวกับหมา เพราะลูกค้าที่มาล้วนเป็นคนรักหมาทำให้มีโอกาสขายได้มาก
“เราเรียนรู้จากคอลเลคชั่นคนรักหมาว่า อันที่จริงเราผลิตสินค้าที่เป็นตลาดนิช แต่เรากลับไปวางจำหน่ายในช่องทางที่เป็นของตลาดแมส เพราะฉะนั้น เราจะกลับมา re-launch โดยจะทำให้เป็นตัวตนของคนรักหมามากขึ้น เช่น เมื่อคิดให้ลึกขึ้นจะเข้าใจว่าคนเลี้ยงหมาไม่ได้มองว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่มองว่าหมาเป็นเพื่อนหรือลูกหรือคนในครอบครัว เพราะฉะนั้น wording ที่ใช้ประกอบรูปหมาจะจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อมากขึ้น เช่น เพื่อนสนิท เพื่อนขี้เหงา เพื่อนที่รอเราทุกเวลา เป็นต้น และ focus sale ด้วยการต้องคิดว่าลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ที่ไหน เราต้องไปดิสเพลย์ที่นั่น ทำให้ต่อไปเราต้องมีการทำงานที่ลงลึกในช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย”
นอกจากนี้ การทำตลาดนิชสำหรับระบบการผลิตที่เป็นแมส ซึ่งเป็นแนวทางที่เป่ายิ้งฉุบทำมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดเสื้อยืดในปีพ.ศ. 2529 เป็นเรื่องที่สวนทางกัน แต่เมื่อจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงไปของทิศทางธุรกิจ การทำตลาดนิชจะทำให้เป่ายิ้งฉุบเป็นแบรนด์ในใจของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหวังผลว่าจะขยายไปสู่การตอบรับสินค้าที่เป็นแมสในอนาคตด้วย เพราะในแง่ผลกำไรที่ได้จากตลาดนิชต่ำกว่าตลาดแมส
“ที่ผ่านมาการสร้างจุดยืนที่โดดเด่นว่าเป็นสินค้าดีราคายุติธรรม พิสูจน์ว่าได้ผล เช่น มีลูกค้ารอเสื้อโปโลสีดำของเป่ายิ้งฉุบซึ่งแม้ว่าจะออกมาช้ากว่าตลาดประมาณ 2 สัปดาห์แต่ขายดีมาก หรือเคยแก้ปัญหาผ้าคุณภาพดีไม่ทันกับกระแสตลาดทำให้นำผ้าคุณภาพไม่ดีมาทำขายในราคาถูกโดยไม่ได้ติดแบรนด์เป่ายิ้งฉุบแต่วางขายในร้านเป่ายิ่งฉุบ ปรากฎว่าลูกค้าไม่ยอมซื้อ”
๐ ฝ่าอุปสรรคราคา ตอกย้ำค่านิยมองค์กร
นอกเหนือจากการแข่งขันของตลาดเสื้อยืดโดยรวมอยู่ในระดับรุนแรงอยู่แล้ว สำหรับอุปสรรคของเสื้อเป่ายิ้งฉุบในด้านการกำหนดราคาขาย อยู่ที่ราคาตลาดของเสื้อประเภทเดียวกัน มีความสำคัญและเป็นโจทย์ใหญ่ เช่น เมื่อเป่ายิ้งฉุบกำลังจะออกคอลเลคชั่นใหม่ที่มีพื้นฐานจากการใช้เสื้อยืดขาวคอกลม ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกับที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดทำให้ต้องคำนึงถึงราคาขายของเสื้อประเภทนี้ที่มีอยู่แล้วด้วย
เช่น หากท้องตลาดวางขายในราคา 190 บาท ถ้าเป่ายิ้งฉุบจะวางขายในราคาที่สูงกว่าจะเกิดความเสี่ยงในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า แต่ถ้าวางขายในราคาเท่ากันจะทำให้เสียโอกาสในการได้กำไร และเมื่อคำนึงถึงตำแหน่งสินค้าที่วางไว้ว่าเป็นสินค้าคุณภาพดีราคายุติธรรม ทำให้การตั้งราคาควรจะต้องสูงกว่า 190 บาท เพราะสินค้าเป่ายิ้งฉุบมีคุณภาพดีกว่าสินค้าในท้องตลาด
เนื่องจากปรัชญาของบริษัทหรือแนวทางในการทำธุรกิจมีจุดยืนว่าเป็น “องค์การแห่งความดีงาม” และมีค่านิยม “ครอบครัวอบอุ่น” ทำให้ส่วนหนึ่งของการดำเนินการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กรและสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งออกมาในรูปของการทำศูนย์เด็กและพัฒนาชุมชน โดยในระยะแรกเน้นการให้เงินสนับสนุนเท่านั้น แต่ต่อมาต้องการเรียนรู้จึงเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น และล่าสุดเกิดเป็นโครงการสนับสนุนชาวปะกาเกอญอหรือชาวกะเหรี่ยง จังหวัดเชียงราย ด้วยการผลิตเสื้อคอลเลคชั่นพิเศษออกจำหน่าย เพื่อหาเงินทุน 1 ล้านบาทผลิตหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวและวัฒนธรรมของชนเผ่า หลังจากที่ได้ไปเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้วิถีชีวิตจนกระทั่งเกิดความประทับใจ
“ปีนี้เราจะหันมามุ่งตลาดเสื้อยืดคอกลมสีขาว แต่มีสีขาวแบบพิเศษที่เราเรียกว่าขาวเป่ายิ้งฉุบเป็นสินค้าชูโรง เพื่อเป็นการสร้างบุคลิกของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนและแตกต่าง ซึ่งเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งทางการตลาดในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของเรา ในจังหวะเวลาเดียวกันกับการเปิดตัวโครงการเสื้อปะกาเกอญอ เพื่อจะให้ลูกค้าได้ร่วมรับรู้และสนับสนุน”
๐ พลิกมุมคิด บริหารความเครียด
สำหรับสถานภาพของบริษัทฯ อยู่ในระดับอยู่รอดมานานแล้ว เพราะมีการปรับโครงสร้างองค์กรและวางรากฐาน รวมทั้ง การปฏิบัติที่สื่อสารและมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 ทำให้ในด้านของผลประกอบการเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน อยู่ในระดับที่มีผลกำไรที่ดี เพียงแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันและปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้ง การใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นทำให้ผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แก้ไขปัญหาสต๊อกสินค้าซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ให้คลี่คลายไปได้แล้ว ในปี 2551 จึงปรับแนวรุกใหม่โดยการหันมาเจาะตลาดเสื้อยืดขาว แทนที่จะเน้นรุกตลาดเสื้อยืดโปโล เพราะต้องการวางรากฐาน 3 กลยุทธ์ใหม่ ดังกล่าว และนำมาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพสูง
“ปีที่แล้วพูดกันเล่นๆ ว่าเราต้องมีสติ เพื่อจะเปลี่ยนสต๊อก ให้เป็นสตังค์ เพราะเรามีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งวิธีคิดให้ไม่เครียดก็คือการมองว่าสต๊อกที่มีมากเท่าไรหมายถึงการมีเงินมากเท่านั้น มีมากแปลว่ารวยมาก เพราะถ้ามองว่าสต๊อกเป็นความเสียหายผลิตมาต้นทุน 200 บาท แต่ต้องขายร้อยกว่าบาท เพื่อไม่ให้ขาดทุนมากไปกว่านี้ ก็กลุ่มใจจนไม่มีสติ”
“พื้นฐานที่สร้างไว้และส่งผลดีมาจากการที่เราปรับตัวด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรมาตั้งแต่ 7 ปีก่อน และทีมงานเห็นทิศทางเดียวกันและมุ่งมั่นที่จะไปด้วยกัน และมีการทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น กิจกรรมครอบครัวอบอุ่น ห้องสมุดพ่อแม่ลูก ฯลฯ เป็นการสร้างค่านิยมครอบครัวอบอุ่นให้เป็นจริง ทำให้คนเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ที่สำคัญกว่ายิ่งขึ้นคือ ณ เวลานี้เราสร้างแบรนด์ได้ เราเป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์หรือ brand identity ว่าเป็นแบรนด์ของครอบครัวอบอุ่นและองค์กรปัญหาแห่งความดีงาม ซึ่งจะต่อยอดออกไปได้อีกไกล เพราะถ้าผู้บริโภคยังไม่รู้ว่าเป่ายิ้งฉุบเป็นอะไรเราลำบากกว่านี้แน่”
การสร้างแบรนด์ที่ทำมาตลอดผ่านกิจกรรมทั้งให้กับบุคลากรภายในองค์กรและในส่วนของลูกค้ายังสามารถสานต่อและเชื่อมโยงกันได้อีกมากมาย ยกตัวอย่าง การนำกิจกรรมใหม่ๆ มาผนวกและต่อยอดกิจกรรมเดิม เช่น การนำโครงการปะกาเกอญอมาขยายผลกับโครงการครอบครัวอบอุ่น ฯลฯ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ หากไม่ได้สร้างแบรนด์อย่างมีการวางตำแหน่งสินค้าชัดเจน มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเข้มข้นมากพออาจจะอยู่รอดได้ลำบากในอนาคต เพราะคู่แข่งในระดับโลกคือจีนกำลังมาแรงขึ้นทุกที
ยิ่งกว่านั้น การเริ่มใช้กลยุทธ์ 3 ประการ ซึ่งเป็นเชิงรุกที่เริ่มมาประมาณ 7-8 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ ในส่วนของทีมงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญของความสำเร็จเริ่มมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการนำมาใช้ให้ได้ผล ทำให้เชื่อว่าในปีนี้จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้สูงขึ้น และฝ่าฟันอุปสรรคจากปัจจัยภายนอกซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ดีขึ้น

25/1/54

ทำเลทอง ‘สิงคโปร์’ โอกาสแฟรนไชส์ไทยสู่โลก


สิงคโปร์ เป็นตลาดที่ศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล (IRF) มหาวิทยาลัยศรีปทุมมองว่ามีศักยภาพ สำหรับการเปิดตัวสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะเซาท์อีสเอเชีย อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง

พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวถึงศักยภาพของสิงคโปร์ว่า อันดับแรกให้น้ำหนักที่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งการค้า เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถดึงนักลงทุน นักท่องเที่ยว ให้เข้าไปในประเทศหลายสิบล้านคนต่อปี
เท่ากับว่าสิงคโปร์เป็นที่รู้จักของนานาชาติทั่วโลก ดังนั้นการเข้าไปทำธุรกิจในแหล่งที่เป็นสายตาโลก เท่ากับเปิดตัวเองหรือประตูให้ชาวโลกได้รู้จัก หรือเป็นการแนะนำธุรกิจของคนไทยที่เข้าไปลงทุนให้รู้จักและเกิดการขยายไปยังประเทศอื่นๆ โดยมีทำเลที่สิงคโปร์ในการสร้างร้านต้นแบบ ธุรกิจต้นแบบให้เกิดขึ้น นับเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่โลก
ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาขาแฟรนไชส์แต่ละรายในสิงคโปร์มีอยู่ประมาณ 10-30 สาขาเท่านั้น ดังนั้นนโยบายการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์สิงคโปร์ก็ออกไปโตในต่างประเทศเช่นกัน เช่นเดียวกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะเข้าไปลงทุนก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีสาขาที่มาก เพียงแต่ต้องมีร้านต้นแบบเพื่อโชว์ให้เห็นคอนเซ็ปต์ธุรกิจ
ขณะเดียวกันหากมองถึงโอกาสพื้นที่ในสิงคโปร์แล้ว จะพบว่ารัฐบาลได้ปรับพื้นที่บริเวณถนนออชาดซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจ เพื่อเกิดรีเทลชอปขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มยอดขายสินค้าให้ได้เป็น 2 เท่า
ส่วนโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนนั้น เมื่อเทียบกับการลงทุนในสิงคโปร์แล้ว ปัจจุบันอันดับหนึ่งหรือกว่า 30% ยังเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือธุรกิจค้าปลีก การศึกษาและธุรกิจบริการ จะเห็นว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์
สอดคล้องกับข้อมูลของ Mr. Winston Lim Executive Director of BizLink Premium Services Pte Lid ผู้จัดงาน ‘Franchising & Lincensing Asia 2006’ ที่สิงคโปร์ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-2 ก.ย. นี้ว่า ชาวสิงคโปร์ว่า ชอบการชอปปิ้งและการรับประทานอาหารเป็นชีวิตจิตใจ ธุรกิจที่มีศักยภาพในสิงคโปร์ควรเป็นประเภทอาหาร เครื่องดื่ม หรือกลุ่มค้าปลีก บริการ ทั้งธุรกิจการศึกษา ฝึกอบรม ที่ปรึกษา สปา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนสิงคโปร์ได้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน การเข้าไปลงทุนยังสิงคโปร์นั้น ไม่มีระเบียบข้อบังคับที่ยุ่งยากฉะนั้นสามารถลงทุนได้เลย เมื่อเทียบกับการลงทุนที่มาเลเซียยุ่งยากกว่า เพราะต้องประกอบกิจการในประเทศนั้นมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
พีระพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในสิงคโปร์มี 350 ธุรกิจ ประสบผลสำเร็จ 67% 19% เป็นธุรกิจที่เกิดใหม่ และ 14% เป็นธุรกิจที่ล้มเหลว ซึ่งเปรียบเทียบแล้วยังไม่เข้มแข็งเท่าญี่ปุ่น เกาหลีและอเมริกา
ถ้าเทียบจำนวนบริษัทแฟรนไชส์ต่อประชากร 1 แสนคน ในสิงคโปร์มีบริษัท 8.33 บริษัท ขณะที่ไทย 0.4-0.5 บริษัท ซึ่งเท่ากับว่าไทยสามารถขยายธุรกิจโตได้อีกกว่า 3 เท่า
ซึ่งปัจจุบันบริษัทแฟรนไชส์ในไทยมี 360 บริษัท คาดว่าในปี 2550-2551 จะมีบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 700 บริษัท
และสำหรับผู้ที่ต้องการไปลงทุนที่สิงคโปร์นั้น พีระพงษ์ เตือนว่า ถ้าจะไปลงทุนที่สิงคโปร์ ต้องมั่นใจว่าธุรกิจมีอะไรที่โดดเด่น คอนเซ็ปต์ธุรกิจเป็นอย่างไรและมีความแข็งแรงหรือยัง ถ้าเป็นธุรกิจอาหารควรมีจุดเด่นและสร้างความแตกต่าง ซึ่งถ้าเป็นอาหารไทยจุดเด่นคือความปราณีต แสดงออกถึงความเป็นไทยด้วยการดีไซน์หน้าตาอาหารให้ดี
ขณะเดียวกันการมองหาพาร์ทเนอร์หรือคู่ค้าในการทำธุรกิจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอย่ามองเพียงโลเคชั่นเพียงอย่างเดียว เพราะการทำธูรกิจในต่างประเทศ เจ้าของพื้นที่ในประเทศนั้นๆ จะรู้มากกว่าและเป็นการเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ควรมีการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่แรก ด้านการร่วมทุนใน 3 ระยะ ระยะแรกจุดสำคัญคือการหาบริษัทที่ปรึกษาเพราะเรื่องการโอเปอเรชั่นต้องใช้ภาษาอังกฤษ
ซึ่งการหาพาร์ทเนอร์นั้น ในระยะแรกอาจจะหาพาร์ทเนอร์เป็นรายบุคคลเพื่อขยายในรูปแบบซิงเกิ้ลยูนิต เพราะตลาดสิงคโปร์เล็กทั้งพื้นที่และจำนวนประชากร
ระยะกลาง หรือเวลาการลงทุนได้ 5 ปีแล้ว นั้นควรหาพาร์ทเนอร์ที่สามารถเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ได้ เพราะชาวสิงคโปร์มีความสามารถในการขยายธุรกิจในภูมิภาคทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และควรต้องสร้างแบรนด์ควบคู่กันไปด้วย
ระยะยาวหรือแผน 10 ปี ควรจัดตั้งบริษัทขึ้นที่สิงคโปร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของสำนักงานในการทำแผนการตลาดต่างๆ รวมถึงการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐของสิงคโปร์
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือการเข้าใจข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งง่ายกว่าในหลายประเทศ เช่น จีน เพียงแต่เจ้าของกิจการต้องรักษามาตรฐาน เพราะผู้บริโภคชาวสิงคโปร์แข็งแรง และคาดหวังความเป็นมาตรฐานสากล ถ้าเมื่อไหร่แฟรนไชซอร์ไม่มีการสนับสนุน จะเกิดปัญหามากและเป็นการทำธุรกิจเพียงครั้งเดียว และต้องเข้าใจว่าตลาดต้องการอะไร ธุรกิจอะไรที่เหมาะสมที่จะเข้าไป
จะเห็นได้ว่าที่สิงคโปร์จะมีฟูดส์คอร์ทอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐบาลให้เช่าในราคาไม่แพง ซึ่งการไปเช่าในพื้นที่ลักษณะ เป็นการสร้างร้านต้นแบบ ซึ่งแบล็คแคนยอนกาแฟแบรนด์ไทยก็ทำในรูปแบบนี้มาก่อนเพราะต้องสร้างแบรนด์ให้เกิดในสิงคโปร์ได้ก่อน
‘IRE’ ปลดล็อคแฟรนไชส์ตัวกลางประสานแบงก์ปล่อยกู้
หลังเปิดโครงการ Mini MBA Franchise Management ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศรีปทุมและสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก จึงเล็งเห็นความสำคัญของการตั้งแหล่งรวมความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยในธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้นมา
ทำให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและ แฟรนไชส์สากล (IRF)” ขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัย ดร.กมล ชัยวัฒน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า เป็นบทบาทในการนำองค์ความรู้พร้อมบุคลากรมาสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเพราะปัจจุบันการทำธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น จะด้วยนโยบายการค้าเสรี ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับคู่แข่งขันจากทั่วโลก ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันยกระดับองค์ความรู้ผู้ประกอบการไทยเทียบชั้นสากล
พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขยายความถึงหน้าที่ของศูนย์ฯ แห่งนี้ว่า จะมีการจัดทำวิจัยหัวข้อธุรกิจทั้งการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค สนับสนุนการเกิดของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยอย่างยั่งยืน โดยศูนย์แหล่งนี้จะเป็นศูนย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแฟรนไชส์ รวมถึงการจัดอันดับแฟรนไชส์ดีเด่นและนักธุรกิจดีเด่นขึ้นเป็นประจำทุกปี
โดยศูนย์ฯ ได้นำอุปสรรคที่เกิดกับธุรกิจแฟรนไชส์มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเร่งผลักดันกฏหมายแฟรนไชส์ การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อขยายการลงทุนทั้งในส่วนของการพัฒนาของแฟรนไชซอร์ เพื่อขยายวงเงินในการสร้างธุรกิจที่มีขนาดใหญ่พอที่จะขยายได้ต่อไปในอนาคต และความต้องการซื้อของแฟรนไชซี


19/1/54

ย้อนความทรงจำกับ “ตู้ปลาบ้านทรงไทย”

“ตู้ปลาบ้านทรงไทย” ไอเดียจาก “จิตรกร โอฬารรัตน์มณี”อดีตวิศวกร เมืองเชียงใหม่ สร้างผลงานสุดเฉียบนำตู้เลี้ยงปลาธรรมดาๆ ประยุกต์ให้กลายเป็นตู้ปลาบ้านทรงไทย

เขาเล่าว่า แรกเริ่มตั้งใจจะออกแบบในสไตล์แปลกใหม่ แต่เมื่อดูไอเดียตู้เลี้ยงปลาแปลกๆ ของเจ้าอื่นๆ ที่ทำก่อนนี้ รู้สึกว่า เขาทำกันดีมากอยู่แล้ว ถ้าจะเป็นออกแบบไอเดียใหม่ คงทำดีสู้ไม่ได้ เลยมองย้อนกลับมานึกถึงของไทยๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสสัมผัส นั่นคือ “บ้านทรงไทย” เพราะคนไทยทุกวันนี้ แทบจะไม่มีโอกาสอยู่จริงแล้ว
ด้านการออกแบบ เป็นการประยุกต์จากแบบ บ้านทรงไทยแท้ๆ บวกกับจินตนาการส่วนตัว ต้องตัดรายละเอียดบางส่วนออกไป ด้วยข้อจำกัดทางการผลิต ส่วนวัสดุทำมาจากเศษไม้สัก เพราะมีคุณสมบัติป้องกันปลวก และไม่ขึ้นรา อีกทั้งมีความสวยงามคงทน
นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความสะดวก โดยจัดให้ส่วนหลังคาสามารถถอดออกได้ ง่ายต่อการนำออกมาเปลี่ยนทำความสะอาด ทั้งนี้ มีทั้งแบบ “บ้านเรือนเดี่ยว” และ “เรือนหมู่” 2 หลัง และ 3 หลัง เป็นแบบบ้านทรงไทยประยุกต์รูปทรงตัว “L” และตัว “U”
ปัจจุบันตู้ปลาบ้านทรงไทย มีทั้งหมดกว่า 10 แบบ เน้นเพิ่มลูกเล่น อาทิ ให้มีบ่อน้ำพุวนอยู่ในบริเวณรั้วบ้านทรงไทยด้วย เพื่อเสริมในด้านฮวงจุ้ยสำหรับลูกค้าที่จะซื้อไปตบแต่งบ้าน สำหรับราคาขายปลีกนั้น มีตั้งแต่ 1,000 – 8,000 บาท กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย , สิงคโปร์ เป็นต้น สนใจติดต่อ (053) 338101 , 01-716 -8455 หรือ www.iamhome2003.com

17/1/54

การเปิดธุรกิจไอศกรีม

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนทั้งปีของบ้านเรา ส่งผลให้การทำกิจการไอศกรีมได้รับการตอบรับที่ดี เราจะเห็นว่าตั้งแต่วัยเด็ก ไอศกรีมยังไม่มีความหลากหลายมากมาย และอร่อยได้มากเท่านี้  แต่ปัจจุบันกิจการไอศครีมมีความก้าวหน้าอย่างมาก และมีความแปลกใหม่มาให้เราลิ้มลองอยู่เสมอ ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยนี้นี่เอง ทำให้ธุรกิจนี้มีการเติบโต จากการขยายช่องทางมาจากโรงงานไอศกรีมของบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่  การขายแฟรนไชส์ของไอศกรีมชั้นนำที่มาจากต่างประเทศ
ร่วมทั้งไอศกรีมแบบโฮมเมด ที่มีงานถ่ายทอดวัฒนธรรมกันไปมา และไอศกรีมที่สร้างสรรค์ขึ้นเองของคนไทยเอง ประกอบกับนวัตกรรมเครื่องผลิตไอศกรีม ที่ทำให้การทำไอศกรีมทำได้ง่ายและอร่อย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลดี แก่ผู้ที่รักในธุรกิจไอศกรีม ได้มีทางเลือกหลายช่องทาง
และแน่นอนผู้ที่ทำธุรกิจนี้ก็ต้องอยู่ในท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดด้วย  ดั้งนั้นคำแนะนำจากผู้รู้ที่มีประสบการณ์อย่างยาวนานในเรื่องนี้  จะช่วยให้คำแนะนำที่ดีแก่คุณได้
จากการที่ทีมงานแฟรนไชส์ โฟกัส ได้สำรวจและพูดคุยกับผู้ที่คว่ำหวอดในวงการนี้มาอย่างยาวนาน บางคนเรียกได้ว่า ทำมานานเกือบทั้งชีวิตทีเดียว และบางรายก็เป็นแบรนด์ที่ครองตลาดสูงสุด จนไปถึงรายย่อย ที่จับต้องได้ง่าย เราจึงได้ข้อมูล ที่สรุปถึงเรื่องของไอศครีมได้ดังนี้

ตลาดของไอศกรีมยังโต 3-4%
บางคนก็ตีมูลค่าตลาดไอศกรีมต่อปี เป็นหมื่นล้าน บางคนก็ประเมินว่า น่าจะมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า สามพันล้าน อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ค่อนข้างจะตรงกันก็คือ การเติบโตในธุรกิจไอศกรีมนั้นยังคงมีอยู่ ในราวๆซัก 3-4%  ทั้งนี้ก็เติบโตไปตามการเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นหลัก สำหรับไอศกรีมก็จะมีหลายระดับคือ
-ไอศกรีม พรีเมี่ยม อย่าง เช่น ฮาเก้นดาส  สเว่นเซนส์  บัดส์ไอศกรีม ครีม แอนด์ฟัด  บาสกิ้นรอบบิ้นส์ เป็นต้น ข้อมูลของธนาคารไทยพาณิชย์ได้วิเคราะห์เอาไว้ ในปี 2550 ว่า ตลาดระดับไอศกรีมพรีเมี่ยมนี้ มีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาท และมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ที่ดูแล้วเหมือนมีโอกาที่ดีค่อนข้างมาก แต่ตลาดนี้ก็ยังเป็นตลาดที่อ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนจะยังต้องพึ่งพาในกลุ่มของนักท่องเที่ยวด้วย
-ไอศครีมระดับกลาง เช่น ไอศกรีม เจลาโต้ หรือไอศกรีมตักที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าเป็นต้น เป็นตลาดกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท แต่มีอัตราขยายตัวที่ 3-5%  ถึงแม้ว่าการเติบโตไม่สูงมากแต่ก็เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ที่น่าสน
-ไอศกรีม ระดับล่าง ที่เจาะลูกค้าทั่วไป อย่างไอศกรีมรถเข็น และไอศครีมกะทิ หรือไอศกรีมที่เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน เป็นต้น กลุ่มนี้ถ้านับจำนวนผู้ผลิตมีมากที่สุดที่คิดเป็น 78% ของผู้ผลิตไอศกรีมทั้งหมด สำหรับมูลค่าตลาดประเมินกันว่าอยู่ประมาณ 1 พันล้านล้านบาทต่อปี ตลาดนี้มีการเติบไม่สูงนัก แต่ตลาดนี้กำลังถูกรุกคืบจากผู้ผลิตรายใหญ่  ที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งกว่า
อย่างไรก็ตามอุปสรรค์ที่สำคัญยิ่งเหมือนทุกธุรกิจ ก็คือเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองเป็นผลกระทบของธุรกิจนี้


ตลาดยังลงทุนได้หรือไม่
คุณนิมณิชา กรรณเลขา กรรมผู้จัดการ เอ็นทูไอซ์ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำไอศกรีมและเจลาโต้ รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องทำไอศกรีมและอุปกรณ์ในการเปิดร้านไอศกรีม  ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโอกาสในการทำร้านไอศกรีมว่า  “สำหรับผู้ที่กำลังว่าจะเปิดธุรกิจไอศกรีม ถ้าลงทุนต่ำสุดอาจใช้เครื่องปั่นขนาดเล็ก บวกกับตู้แช่ สามารถทำเป็นแนวแพ็คส่งร้านเป็นถ้วย 4 ออนซ์  เนื่องจากการเริ่มต้นลูกค้าจะไม่มั่นใจในการเปิดร้าน  ทำที่บ้านแล้วไปส่งร้านอาหาร ต้นทุนจะอยู่ไม่เกิน 3-4 หมื่น จะคืนทุนค่อนข้างเร็ว   มีลูกค้าที่เคยสอน เปิดร้านไอติม    ก็จะขายไอศครีมแปลก ฝรั่งบ๊วย รสแปลกๆ   หรือบางรายมาซื้อเครื่องไป แล้วส่งพนักงานมาอบรม ซึ่งบริษัทก็จะมีบริการเพิ่มในเรื่อเรื่องของการทำเมนู  และรับจ้างเป็นที่ปรึกษาในการเปิดร้านด้วย
ส่วนการมองเรื่องธุรกิจไอศครีม ตอนนี้ธุรกิจนี้น่าสนใจมาก เพราะธุรกิจกาแฟเริ่มเต็ม    แต่ไอศครีมคนเพิ่งเริ่มมารู้จัก แล้วก็ค่อยขยับขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งปีที่แล้วฮอตมาก  เนื่องจากว่าเริ่มรู้ว่าต้นทุนถูก และตลาดที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักแค่วอลล์  พอคนเริ่มรู้ว่า ไอศครีมโฮมเมดทำง่าย แล้วก็ได้ใส่ไอเดีย ผลไม้ไทยมีอีกหลายชนิด มันก็ทำให้กลายเป็นตลาดอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ไอศกรีมโฮมเมดคิดไอเดียสร้างสรรค์ขึ้นมา ครีเอทเป็นแบรนด์รสขาติของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก
คนที่คิดจะทำร้านไอศกรีม คุณนิมณิชา ให้ข้อแนะนำว่า คืออันดับแรก ให้มองตลาดที่เราจะขายว่าเป็นกลุ่มไหน ไม่ใช่มองว่าเราชอบอะไรแต่ให้มองว่าตลาดต้องการอะไร แต่ละโลเคขั่นที่เราไปขายก็แตกต่างกัน ไปขายโรงเรียนก็ทำแบบนี้ ถ้าขายร้านสปา ก็ต้องทำอีกแนวหนึ่ง ขายในสำนักงานออฟฟิศ อาจจะเป็นแนวโยเกิรต์ โลว์เฟต  คือต้องมองลูกค้าที่จะไปขายเขาขอบอะไร ไม่ใช่ว่าเราชอบอะไร
ข้อสอง คุณภาพและความสะอาดไอศกรีมเราก็มี มากที่สุด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญ แล้วเรื่องอื่นๆก็จะตามมา คือต้องมีความมุ่งมั่นและใจรัก  ก็จะประสบความสำเร็จ
ควรจะเป็นควบคู่ไปกับธุรกิจอื่นๆ เช่น กาแฟ หรือ เบเกอรี่  คือแทนที่จะต้องจ่ายค่าร้านกาแฟ เบเกอรี่ ก็มีไอศกรีมเปิดไปด้วย  ด้านการแข่งขัน   ปีนี้การแข่งขันสูง แต่ก็ต้องเน้นจุดเด่นของเราว่าเราขายอะไร ถ้าไอศกรีมอย่างเดียวก็ต้องเน้นเรื่องการจัดร้าน  ไม่ใช่ให้แค่มาทานไอศกรีม หรือครีเอทให้มีแนวแปลกขึ้น เช่นอย่างที่ร้านมีเมนูสปาเก็ตตี้ จะเป็นไอศครีมเส้นๆ หน้าตาแปลก
แนวโน้ม ข้างหน้า
ไอศกรีมเป็นของหวานที่ทุกชาติชื่นชอบ แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องของไขมันสูง แม้ว่าวันนี้พฤติกรรมของคนไทย ยังไม่แคร์ในเรื่องของไขมันจากไอศกรีมกันมากมากนัก ส่วนใหญ่ยังรักความอร่อยกันมากกว่า แต่แนวโน้มในวันข้างหน้า หากประชากรในระดับที่มีความรู้มีมากขึ้นจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น  ไอศครีมเพื่อสุขภาพที่ยังไม่นิยมมากนักในเวลานี้ อาจจะมีตัวเลขที่ดีขึ้น หรือไอศครีมที่มีจุดโดดเด่นเรื่องคุณค่าสมุนไพร หรือสารอาหารที่ดีเลิศที่ดีต่อสุขภาพ อาจจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในวันข้างหน้าก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ไอศครีมยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ไอศครีมหน้าใหม่มาแรงได้
และสำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจไอศกรีมที่กำลัง  ที่มีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งแบบลงทุนต่ำ แบบผลิตมาเป็นแบรนด์ของตัวเอง หรือร้านคีออส หรือเป็นร้านแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบอย่างสเวนเซนส์ ให้เลือกตามความเหมาะสมของตัวเอง ก็สามารถมาหาความรู้ก่อนตัดสินใจเปิดร้านกันได้ที่งานสัมมนาอาชีพ “การเปิดธุรกิจไอศกรีม” ที่ทางเอ็นทูไอซ์ ได้ร่วมมือกับนิตยสารโอกาสธุรกิจแฟรนไชส์ จัดขึ้นในเสาร์ที่ 30 ตค นี้ ที่ ศูนย์การเรียนรู้อาชีพไอเพลสไลฟ์สเคปลาดกระบัง งานนี้จะมีการเปิดสอนในเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับ ไอศกรีมชนิดต่างๆ , โครงสร้างที่ส่วนผสมต่างๆ ที่ใช้ในการทำไอศกรีม รวมทั้ง เทคนิคการเลือกซื้อส่วนผสมและการเลือกใส่ส่วนผสม  ,รู้จักกับอุปกรณ์และเครื่องมือ ที่จำเป็นในการทำไอศกรีม ,การคิดคำนวณต้นทุนสำหรับเปิดร้านและไอเดีย เกร็ดความรู้ในการเปิดร้านไอศกรีม และการทำตลาด
และในช่วงบ่าย ผู้อบรมจะร่วมกันปฏิบัติการทำไอศกรีมแบบง่ายๆ สไตล์อิตาเลี่ยน 2 เมนู ได้แก่ สตอเบอรี่เชอเบท และ คุ๊กกี้แอนด์ครีมเจลาโต้  ค่าอบรมหากสมัครล่วงหน้าเพียง 500 บาทเท่านั้น สมัครด่วนรับจำนวนจำกัด โทร. 02 721 2795 หรือโหลดใบสมัครอบรมอาชีพที่ www.franchisefocus.co.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ติดต่อ
นภาภรณ์  02 721 2795 , 089 661 8230