Testing Noodles Pathumthani

8/12/53

ศรุดา นิ่มพิทักษ์พงศ์ ดีไซเนอร์ห้องเสื้อดัง Kunitar

 ศรุดา นิ่มพิทักษ์พงศ์
สาวผู้มีรสนิยมทางด้านแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้ทุกวันนี้เธอก้าวเข้ามาอยู่ในแวดวงงานแฟชั่น ซึ่งปัจจุบันมีห้องเสื้อเป็นของตนเองภายใต้แบรนด์ “Kunitar” และ “8E88″ เสื้อผ้าดีไซน์หรูที่ต้องตาโดนใจลูกค้าระดับไฮเอนด์ ดารา นักแสดง และเซเล็บฯชื่อดัง ที่ต่างตบเท้าเข้ามาใช้บริการไอเดียของเธอ
แน่นอนว่าชื่อเสียง และความสำเร็จบนเวทีแฟชั่นในวันนี้ คงมิได้สร้างขึ้นเพียงแค่หลับตาตื่น ทว่าเธอต้องผ่านบทพิสูจน์นานัปการกว่าจะก้าวขึ้นมายืน ณ จุดนี้ได้
“เป็นคนชอบแต่งตัวมาตั้งแต่เด็ก ชอบเอาเสื้อผ้าคุณแม่มามิกซ์ แอนด์ แมตช์ และเด็ก ๆ มักจะ ได้แสดงในงานโรงเรียนบ่อย ๆ ฟ้อนรำบ้าง ได้ใส่ชุดฟู ๆ บาน ๆ รู้สึกชอบมาก พอเรียนมัธยมมีวิชาคหกรรมที่เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า ถึงได้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ตัวเองชอบ
จากนั้นก็ชอบมาเรื่อย ๆ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำงานด้านนี้ เพราะโตมาในครอบครัวข้าราชการตำรวจ ซึ่งคนในตระกูลไม่ได้ชี้นำทางนี้ ก็เรียนไปเรื่อย ๆ จนหลัง ๆ รู้สึกชอบงานด้านนี้จริง ๆ เลยแอบทางบ้านไปหางานพิเศษทำตามร้านฟาสฟู้ดส์ เพื่อเก็บเงินไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า
เรียกว่าต้องไขว้ขว้าหาความรู้เอาเอง ศึกษาจากคนใกล้ตัว เช่นคุณย่าหรือคุณอาบ้าง เวลาท่านเย็บเสื้อผ้าหรือซ่อมเสื้อผ้าเราจะไปนั่งดู คุณย่าจะมีจักรอยู่ที่บ้าน ลูกหลานคนอื่นไม่สนใจแต่เราจะชอบขึ้นไปเย็บจักรบ่อย ๆ เป็นจักรสมัยก่อนที่เรียกว่าจักรถีบ
ค่อย ๆ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า ไปทำอย่างอื่นอยู่นานเหมือนกัน จนรู้สึกว่าทำอะไรมาหลายอย่างแต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จสักอย่าง เลยกลับมาหาจุดยืนในสิ่งที่เราชอบที่สุด เพราะคิดว่าอะไรที่เป็นตัวตนของเรา แล้วเรารักและเลือกทำสิ่งนั้น เราจะทำได้สำเร็จ”
จากความตั้งใจจริงในสิ่งที่รัก คุณกุ้งใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์นานนับ 10 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสู่การเป็น “Designer”
“ตอนนั้นยังไม่มีบางกอกแฟชั่นวีค ก็คิดว่าทำอย่างไรถึงจะมาอยู่ตรงนี้ได้ ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เรียกว่าต้องใช้ความมุ่งมั่นและวิธีการทุกอย่าง เพื่อจะไปให้ถึงจุดหมายเร็วที่สุด เลยเป็นเหตุผลที่ต้องเริ่มส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการต่าง ๆ และต้องชนะให้ได้
คุยกับแฟนซึ่งเป็นวิศวกรว่า ได้เวลาที่เราต้องมารวมพลังกันแล้ว ถึงแฟนจะทำงานคนละอย่างกับเรา แต่การทำเสื้อผ้าต้องมีโครงสร้าง ซึ่งวิศวกรจะออกแบบโครงสร้างได้ดี พอมีการประกวด TFBB YOUNG THAI BRAND 2004 เลยลองส่งผลงานเข้าไปแข่งดู
ส่งไปทั้งหมด 4 แบรนด์ เข้ารอบทั้ง 4 แบรนด์ แต่เลือกแค่ 2 แบรนด์เพื่อเข้าชิง คือ “E.pix” กับ “triple8” ซึ่ง “E.pix” ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Catwalk Presentation (TFBB YOUNG THAI BRAND 2004) ของสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ถือว่า triple8 และ E.pix เป็นแบรนด์ต้นกำเนิดของ “Kunitar”
กว่าจะมาถึงวันนี้กุ้งใช้เวลานับ 10 ปี โดยมีความเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องประสบความสำเร็จ และที่เดินมาถึงวันนี้ได้ต้องใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นมาก ที่สำคัญคือ ไม่ท้อ แต่ถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง กุ้งคิดว่ายัง แต่เดินมาได้ครึ่งทางแล้ว
กุ้งผ่านอะไรมามากมาย ชีวิตไม่ได้ปูพรม ทุกอย่างสร้างมาด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือ ล้มไม่ได้ กุ้งว่าความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญ ทุกอย่างที่คิดว่าทำได้เราจะทำได้ เสื้อผ้าที่ทำทุกชุดกุ้งจะใส่จิตวิญญาณเข้าไป คนที่ได้เสื้อไปจะได้จิตวิญญาณจากเราไปด้วย”
สร้างงานมาหลากหลายแบรนด์จนมาลงตัวที่แบรนด์ “Kunitar” เสื้อผ้าแบบอาร์ต & โรแมนติก เน้นสไตล์อ่อนหวานแบบเฟมินิน และ “8E88” (eight-e-eight-eight) เสื้อผ้าที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานความเป็นโมเดิร์น & อาร์ต เข้ากลับกลิ่นอายแบบกอธิคและฟังค์
สองแบบสองสไตล์ที่สร้างชื่อและทำรายได้ให้เธอ โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะและไม่ยึดติดเทรนด์แฟชั่น หากแต่สวมใส่แล้วมิกซ์ แอนด์ แมตช์ ได้อย่างลงตัว
“กุ้งบอกลูกค้าเสมอว่าอย่าไปยึดติดกับเทรนด์ ไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อแบบใหม่ทุกวันใส่ แต่ใส่เสื้อตัวนั้นทุกครั้งแล้วเราดูสวย เพราะเสื้อผ้าที่นำเทรนด์อาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ ฉะนั้นต้องมีความเป็นตัวตน ต้องใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับเรา ไม่ใช่ใส่เสื้อผ้าตามคนอื่น
เสื้อผ้าของ “Kunitar” จะเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะกุ้งทำงานทุกวัน ออกแบบเสื้อใหม่ทุกวัน แรงบันดาลใจในการทำงานมันอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล บางครั้งมีลูกค้าเดินเข้าร้านมา เราก็นึกถึงเสื้อสวย ๆ อยากตัดให้ลูกค้าใส่ จากนั้นก็ Skate แล้วตัดเลย ลูกค้าบางคนไม่เลือกผ้าด้วยซ้ำ เพราะกุ้งจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เขาและเหมาะกับเขา ไม่มีเหตุผลที่จะทำเสื้อไม่สวยให้ลูกค้าใส่
“Kunitar” มีเสื้อโชว์ 100 กว่าตัวทุกวัน ฉะนั้นใน 100 กว่าแบบจะมีแบบที่แมตช์กับคุณ ลูกค้าที่มาตัดเสื้อมักจะกลับมาหากุ้งเสมอ เพราะเราดูแลลูกค้าด้วยตัวเอง ดูแลด้วยความใส่ใจ ยิ่งลูกค้าที่ได้คุยและตัดเสื้อให้กุ้งจะจำได้ ถึงจะผ่านไปหลายปีแล้วกลับมาใช้บริการที่ร้านอีกครั้งกุ้งก็จำได้ เพราะเชื่อว่าลูกค้าถ้าได้คุยหรือได้เจอกุ้งต้องแฮปปี้กลับไป
แน่นอนว่ามีคนเข้าร้าน 100 คน อาจมีสัก 5 คนที่ไม่ชอบเรา แต่กุ้งไม่สนใจ เพราะอีก 95 คนชอบเรา ๆ พอใจแล้ว ไม่มีทางที่คน 100 คนจะชอบเรา บางคนแค่เห็นหน้าก็ไม่ถูกชะตาแล้ว ฉะนั้นกุ้งจะไม่สนใจ อีกอย่างเสื้อผ้าร้านกุ้งราคาจะไม่ได้สูงมาก ประมาณหมื่นต้น ๆ ก็ตัดใส่ได้แล้ว ที่สำคัญตัดชุดที่ร้าน “Kunitar” แล้วสามารถเก็บไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลานได้ หรือเก็บไว้อีก 10 ปีก็ยังเอามาใส่ได้
อย่างคนจะตัดชุดแต่งงาน ไม่ต้องคิดมากมาคุยกันก่อน คุณอาจตัดชุดแต่งงานในราคาสองหมื่นก็ได้ แต่ตัดในแบบที่เป็นคุณ อย่าไปเปรียบเทียบกับคนที่ตัดราคาเป็นแสน เราสามารถทำให้คุณสวยได้ สวยในงบประมาณและความพึงพอใจของตัวเรา”
ปัจจุบันคุณกุ้งเปิดร้านอยู่ 2 สาขา คือที่สยามเซ็นเตอร์และทองหล่อ 2 ทำเลทองที่เจ้าตัวบอกว่าไม่คิดจะขยายสาขาเพิ่ม ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือ ต้องการให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุดจริง ๆ “กุ้งจะขายเท่าที่เราทำ แต่ทุกวันที่ขายสินค้ามันได้ผ่านสายตาหรือได้ผ่านการกลั่นกรองของเราออกไปแล้ว ดีกว่าขายเต็มไปหมดแล้วไม่รู้ว่าเสื้อเราไปอยู่เหมาะสมกับคน ๆ นั้นมั้ย”
แม้วันนี้ชื่อเสียงของ “ศรุดา นิ่มพิทักษ์พงศ์” จะเป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงแฟชั่น แต่เธอยังคงเดินหน้าค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำมาพัฒนาชิ้นงานอย่างต่อเนื่อง “การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาที่แก้ไม่ได้หรือหาคำตอบไม่ได้ เราต้องหาคนตอบ สำหรับกุ้งคือการเดินเข้าไปหาคุณครูที่เคยสอน เพื่อถามเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ ซึ่งท่านไม่เคยที่จะปฏิเสธการตอบคำถามเราเลย
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำโชว์ กุ้งจะมีพี่ตือ-สมบัษร ถิระสาโรช เป็นคนคอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาที่ดีมาก โชคดีที่กุ้งมีครูและมีพี่ที่ดีอย่างพี่ตือที่สามารถตอบโจทย์ที่กุ้งอยากจะได้ทุกครั้ง
ส่วนการไปศึกษาดูงานต่างประเทศช่วยให้เราได้เห็นผลงานที่หลากหลาย ทำให้ได้รู้จักดีไซเนอร์ใหม่ ๆ มากขึ้น แล้วเกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียกัน”
สิ่งสำคัญของการเป็นดีไซเนอร์ที่ดีนั้น สาวกุ้งบอกว่าเรื่องของใจต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก“ต้องมีความรักก่อน รักที่จะเป็นดีไซเนอร์และต้องอยากเป็นจริง ๆ เพราะการเป็นดีไซเนอร์จะต้องทำงานหนักมาก ถ้ายิ่งทำตามเทรนด์ยิ่งเหนื่อย เพราะเสื้อผ้าเปลี่ยนทุกวัน แต่ละแบรนด์ก็จะมีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน
อย่างเสื้อผ้าของกุ้ง ๆ เมด ทู ออร์เดอร์และเจอลูกค้าด้วย คือเอาตัวเองลงไปให้ลูกค้ายำได้ เพราะมีความรู้สึกอยากให้คำแนะนำกับลูกค้าเอง อยากตัดเสื้อให้ลูกค้า อยากเจอลูกค้า ลูกค้าคือเพื่อน คือความสุขของการที่ได้เป็นดีไซเนอร์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น